วันจันทร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2553

คำแนะนำ เรื่อง ข้อปฏิบัติสำหรับค่ายทหารและค่ายอื่นๆ

คำแนะนำ เรื่อง ข้อปฏิบัติสำหรับค่ายทหารและค่ายอื่นๆ
เพื่อการป้องกันและควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ(เอ็ช 1 เอ็น 1)
กระทรวงสาธารณสุข
วันที่ 8 กรกฎาคม 2552

คำแนะนำสำหรับเจ้าหน้าที่ฉบับนี้ สามารถนำไปปรับใช้เป็นแนวทางในการกำหนดข้อปฏิบัติสำหรับการป้องกันการแพร่กระจายและควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ(เอ็ช 1 เอ็น 1) ภายในค่ายทหาร และค่ายอื่นๆ ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกัน โดยเป็นสถานที่มีผู้คนหนาแน่นและมีผู้คนเข้าออกเป็นจำนวนมาก มีความเสี่ยงที่จะเป็นแหล่งแพร่กระจายเชื้อโรคได้กว้างขวาง ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข จึงขอให้คำแนะนำ ดังนี้

คำแนะนำทั่วไป
1. เจ้าหน้าที่ควรให้ข้อมูลความรู้ ในการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่แก่ทหารในค่ายและครอบครัวที่พักอาศัยในค่าย รวมทั้งเจ้าหน้าที่ ด้วยช่องทางต่างๆ เช่น ป้ายประกาศ เสียงตามสาย มุมความรู้ โดยเน้นแนะนำการปฏิบัติตามหลักสุขอนามัยที่ดี เช่น ล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ หากมีอาการไอ จาม ให้ใช้กระดาษทิชชูหรือผ้าปิดปากปิดจมูก หากไม่มีหรือหยิบไม่ทัน ไม่ควรใช้มือป้องจมูกปาก (เพราะหากป่วย เชื้อจะติดอยู่ที่มือ แล้วไปเปรอะเปื้อนตามสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ) ให้ไอจามใส่แขนเสื้อแทน จะช่วยลดการฟุ้งกระจายของฝอยละอองน้ำมูกน้ำลายหรือเสมหะได้ดี
2. จัดสถานที่และอำนวยความสะดวก ในการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค เช่น
· จัดอ่างล้างมือพร้อมสบู่ กระดาษทิชชู ประจำห้องน้ำ โรงครัว โรงอาหาร
· จัดหน่วยให้คำแนะนำและจัดหาหน้ากากอนามัยสำหรับผู้ที่มีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่
ในบริเวณลงทะเบียนรับเยาวชนในสถานพินิจ หรือผู้ต้องขังเข้า-ออก หรือจุดเยี่ยมญาติ
· ทำความสะอาดสถานที่ อุปกรณ์ เครื่องใช้ ที่มีผู้สัมผัสมากๆ เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได โต๊ะอาหาร ด้วยน้ำผงซักฟอก หรือน้ำยาทำความสะอาดทั่วไป อย่างน้อยวันละ 1-2 ครั้ง

คำแนะนำเพื่อลดการนำเชื้อเข้ามาแพร่ในค่าย
1. คัดกรองทหารที่จะเข้ามาในค่าย หากผู้ใดมีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ให้หยุดงานไว้ก่อน มิให้เข้ามาอยู่รวมกับผู้อื่น เช่น อยู่บ้านพัก หรือในห้องพยาบาล ทั้งกลางวันและกลางคืน จนกว่าจะหายเป็นปกติ
2. แนะนำทหารและเจ้าหน้าที่ หากเริ่มมีอาการป่วยให้แจ้งห้องพยาบาลภายในค่าย และรีบแยกผู้ป่วยสงสัยโรคไข้หวัดใหญ่
3. หากมีทหารหรือเจ้าหน้าที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่พร้อมกันจำนวนมากอย่างผิดปกติ
ให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อสอบสวน ป้องกัน และควบคุมโรคต่อไป
4. หากค่ายใดพบการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ(เอ็ช1 เอ็น 1) แล้ว ให้ยกเลิกหรือเลื่อนกิจกรรมภายในที่มีการรวมตัวกันหมู่มากออกไปก่อน จัดแบ่งช่วงเวลาการรับประทานอาหารเป็นกลุ่มให้เหลื่อมเวลากัน

คำแนะนำในการดูแลผู้ป่วยสงสัยโรคไข้หวัดใหญ่
1. ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ห้องพยาบาลและอาสาสมัครที่จะดูแลผู้ป่วย
2. แยกผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ ดูแลผู้ป่วยตามคำแนะนำสำหรับผู้ป่วยและผู้ดูแลผู้ป่วย และให้ผู้ป่วยพักผ่อนมากๆ และไม่ควรให้ออกกำลังหนัก มิฉะนั้นอาจทำให้อาการป่วยทรุดลง เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้
3. จำกัดการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การย้ายไปไปค่ายอื่นในช่วง 7 วันนับจากวันเริ่มป่วย
4. หากมีทหารป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่พร้อมกันจำนวนมาก ให้จัดห้องหรือห้องโถงแยกสำหรับผู้ป่วยไว้ในบริเวณเดียวกัน และจัดเจ้าหน้าที่ดูแลผู้ป่วยโดยเฉพาะ โดยมิให้ย้ายไปมาระหว่างหน่วยหรืออาคารต่างๆ
5. ไม่จำเป็นต้องแยกอุปกรณ์การรับประทานอาหารสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย แต่ให้ทำความสะอาดอุปกรณ์เครื่องครัว ล้างจาน ชาม ช้อน แก้วน้ำให้สะอาด ก่อนผู้ป่วยอื่นจะใช้
6. ซักทำความสะอาด เครื่องนอน เช่น ผ้าห่ม ผ้าปูเตียง ก่อนผู้ป่วยอื่นจะใช้
7. หากครบกำหนดให้ทหารกลับไปเยี่ยมบ้าน หรือออกนอกค่ายในระหว่างที่มีอาการป่วย ควรให้คำแนะนำผู้ที่ป่วยเล็กน้อยดูแลรักษาตัวที่บ้าน หรือหากอาการมากควรไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล
8. ควรให้การดูแลเป็นพิเศษแก่ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจากโรคไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้มีภูมิต้านทานต่ำ หญิงมีครรภ์ และผู้ที่เป็นโรคอ้วน


*************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น