วันพฤหัสบดีที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2553

การกำจัดหนูในบ้านพัก,สำนักงาน

แนวทางการควบคุมและกำจัดหนูในพื้นที่บ้านพัก พบ.

หนูที่อาจพบเห็นได้ตามบ้านเรือนทั่วไปมี 4 ชนิด ได้แก่ หนูท่อ , หนูท้องขาว, หนูจี๊ด, หนูหริ่งบ้าน หนูบ้านฉลาดเรียนรู้เร็วเป็นสังคมครอบครัว มี พ่อ แม่ ลูก ลูกตัวที่โตเต็มวัย ถึงจะแยกครอบครัวออกไปหากินตามลำพังและสร้างครอบครัวใหม่ วันหนึ่ง ๆ จะมีช่วงของการท่องเที่ยวแสวงหาอาหารประมาณ 6 ชั่วโมง ในเวลากลางคืนหรือช่วงที่สงบเงียบ เวลาที่เหลือจะใช้ไปในการหลบซ่อนตัวอยู่ในรัง รัศมีในการหากินไม่เกิน 50 เมตร และมีเขตอิทธิพลเป็นของตนเองโดยเฉพาะ หนูบ้านของไทยอายุขัยเฉลี่ยประมาณ 1 ปี
สถิติความสามารถของหนูบ้านไทย
1. การปีนป่ายทางดิ่ง สามารถไต่ลวดขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 มม.ได้อย่างสบาย ดังนั้นจึงไม่เป็นการยากลำบากในการไต่เสาไฟฟ้า ท่อน้ำ ต้นไม้
2. การกระโดดจากท่าปกติ สามารถพุ่งตัวขึ้นด้วยกำลังขาได้สูงถึง 1 – 2 ฟุต แต่ท่ามีทางวิ่งให้เล็กน้อย สามารถกระโดดข้ามสิ่งกีดขวางซึ่งสูง 1-3 ฟุต ได้
3. กระโดดในแนวราบได้ไกลเกินกว่า 0.5-3 เมตร จึงสามารถข้ามคูน้ำหรือช่องว่างระหว่างอาคาร หรือกระโดดจากกิ่งไม้เข้าตัวอาคารได้
4. ลอยตัวอยู่บนผิวน้ำได้นาน 3 วัน ดังนั้นจึงสามารถว่ายน้ำได้ไกลเกินกว่า 50 เมตร (R.rattus)
5. ดำน้ำได้นานมีความอึดนานกว่า 1 นาที (R.norvegicus)
6. สามารถขุดเป็นรู หรือโพรงลงไปในดินได้ลึกถึง 50 ซม. ( R. R.norvegicus)
7. ตกจากที่สูงไม่เกิน 50 เมตร จะไม่มีอันตรายหรือได้รับบาดเจ็บ
8. กินอาหารได้ 10 % ของน้ำหนักตัว และต้องการน้ำเท่ากับ 54 % ของน้ำหนักตัว
9. ฟันคู่หน้าแหลมคมและแข็งแรง ใช้ในการกัดแทะ ขุดเจาะ
10. หนู 1คู่ สามารถออกลูกหลานแพร่พันธุ์ได้ 100-1200 ตัว ภายใน 1 ปี
การสังเกตหนูแต่ละชนิด
1. หนูท่อ หรือหนูนอร์เวย์ ( Rattus norvegicus ) ชื่ออื่น ๆ ที่เรียกกันตามท้องถิ่นได้แก่ หนูกองขยะ เพราะพบเห็นตามกองขยะเสมอ บ้างทีก็เรียกหนูขี้เรื้อน เพราะลักษณะของขนที่มีน้อย และหลุดเป็นหย่อม ๆ คล้ายกับลักษณะของสุนัขขี้เรื้อน หนูท่อตัวโตเป็นหนูในตระกูล Rattus ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด น้ำหนักตัวประมาณ 300 - 350 กรัม วัดจากโคนหางถึงปลายจมูก ประมาณ 19 - 25 ซม. ส่วนหางยาวประมาณ 16-20 ซม. ตาเล็ก ใบหูเล็ก จมูกเป็นสันทู่ เหมาะสำหรับหารขุดรู หางมี 2 สี ด้านบนสีจะเข้มกว่าด้านล่าง มีเกล็ดหยาบ ๆ ที่โคนหางเห็นได้ชัดเจน ตัวเมียมีเต้านมเรียงกันอยู่ที่ส่วนอก 3 คู่ และส่วนท้อง 3 คู่ หนูท่อตัวเมียออกลูกครั้งละ 8 - 12 ตัว ระยะหากินอยู่ในรัศมีไม่เกิน 50 เมตร ลักษณะมูลหนูคล้ายแคปซูล ด้านหัว และท้ายกลมมนมีขนาดโดยประมาณ 2 ซม. หนูท่อชอบขุดรูอยู่ตามพื้นดิน ดังนั้นแหล่งอาหารจึงอยู่บนที่ราบ เช่น ข้างกองขยะ ท่อระบายน้ำ บริเวณหลุมส้วม ใต้ถุนตึกหรืออาคาร บริเวณริมตลิ่งหรือทางน้ำไหล ตามแผงวางสินค้าในตลาด อาหารที่หนูท่อชอบมาก ได้แก่ อาหารสด เช่นไข่ ผักสด เนื้อสัตว์ ปลาและเศษอาหารที่เน่าเสีย หนูท่อไม่ชอบไต่ขึ้นที่สูงเพราะตัวโตและการยึดเกาะของเท้าไม่ดี
2. หนูท้องขาว มีชื่อทางวิชาการ 3 ชนิด คือ Rattus rattus rattus หรือ Black rat ชนิดที่สองเรียก Rattus rattus frugivorus หรือ Tree rat พวกนี้ชอบทำรังคล้ายรังนกบนต้นไม้ หรือตามพุุ่่มไม้ ชนิดที่สามเรียกว่า Rattus rattus alexandrianus ชอบอาศัยอยู่ตามเพดานของอาคารบ้านเรือน ตามช่องลม บริเวณกันสาดใต้หลังคา ถ้าบริเวณรอบบ้านมีต้นไม้แผ่กิ่งก้านสาขาอยู่ใกล้เคียง อาจพบหนูท้องขาวและรังอยู่บนต้นไม้นั้นด้วย หนูท้องขาวมีขนเป็นสีน้ำตาลเกือบดำเป็นมัน แต่ขนส่วนใต้ท้องมีสีขาวปนเทา หรือสีครีม น้ำหนักตัวประมาณ 90-250 กรัม วัดจากโคนหางถึงปลายจมูกยาวประมาณ 17-20 ซม. ส่วนหางจากโคนหางถึงปลายหางยาว 20-25 ซม. โดยทั่วไปความยาวของหางจะยาวกว่าลำตัว ลักษณะนี้เห็นได้ชัด อาหารที่ชอบ คือ พวกเม็ดพืช ได้แก่ข้าวชนิดต่าง ๆ ถั่ว ข้าวโพด มันฝรั่ง อาหารที่ออกรสหวาน ระยะหากินไม่เกินรัศมี 50 เมตร ลักษณะมูลหนู จะโค้งเป็นรูปกระสวย หัวท้ายแหลมยาวประมาณ 1 ซม. หนูท้องขาวรูปร่างปราดเปรียว ปีนป่ายคล่องแคล่ว ตัวเมียออกลูกครั้งละ 6-8 ตัว ตัวเมียมีเต้านมที่หน้าอก 2 คู่ และอยู่ที่ส่วนท้อง 3 คู่ ลักษณะเด่นชัด คือ จมูกแหลมยาว หูใหญ่ หางยาวกว่าลำตัวมีเกล็ดเล็ก ๆ ละเอียดตลอดหาง
3. หนูจี๊ด ชื่อทางวิชาการเรียก Rattus exulans ชื่ออื่น ๆ ที่ใช้เรียกกันคือ Polynesian rat , Ship or Black rat ลักษณะสำคัญที่สังเกตได้คือเวลาออกหากินจะส่งเสียงร้องจี๊ด ๆ ๆ เป็นหนูขนาดเล็กตัวโตเต็มที่มีน้ำหนัก 40-50 กรัม วัดจากโคนหางถึงปลายจมูกยาวประมาณ 8-10 ซม. ส่วนหาง วัดจากโคนหางถึงปลายหางยาว 10-12 ซม. ตัวเมียมีเต้านมที่หน้าอก 2 คู่ ที่ส่วนท้อง 2 คู่ รูปร่างเพรียว จมูกแหลมตาโต หูใหญ่ ขนด้านหลังสีน้ำตาล ด้านท้องสีเทา หางยาวเรียบสีดำ ตัวเมียออกลูกครั้งละ 8-12 ตัว ระยะหากินอยู่ในรัศมีไม่เกิน 10 เมตรจากรัง ที่อยู่อาศัย ชอบที่สูงตามซอกมุมที่ลับตาของอาคาร ตามเพดาน รังหนูจี๊ดตรวจพบเสมอบริเวณหลังคาของฟาร์มเลี้ยงเป็ดและไก่ เส้นทางเดินหากินของหนูจี๊ดมักตรวจพบรูค่อนข้างกลมขนาด 2 ซม. เป็นช่องทางใช้ผ่านเข้าออก ถ้ารูหรือช่องนี้ถูกปิด หนูจี๊ดจะพยายามเจาะที่เดิมอีก แสดงว่าเป็นสัตว์ที่ไว้ใจกับสิ่งคุ้นเคย และจะหลีกเลี่ยงสิ่งของที่แปลกใหม่ อายุขัยเฉลี่ย 100 วัน กินอาหารได้ทุกชนิดชอบเมล็ดพืช ผลไม้ ถั่ว ขนมปัง และอาหารที่มีกลิ่นและรสหวาน
4. หนูหริ่งบ้าน (Asian house mouse ) ชื่อทางวิชาการคือ Mus musculus เป็นหนูบ้านที่มีขนาดเล็กที่สุด น้ำหนักตัวประมาณ 10-15 กรัม วัดจากโคนหางถึงปลายจมูกยาวประมาณ 9 ซม. วัดจากโคนหางถึงปลายหาง 6-9 ซม. ขนด้านหลังสีเทาปนน้ำตาล ลักษณะอ่อนนุ่มเป็นมัน ขนด้านท้องสีขาว หางด้านบนสีดำ ด้านล่างสีจางกว่า ตัวเมียมีเต้านมที่หน้าอก 3 คู่ ที่ท้อง 2 คู่ ตัวเมียออกลูกครั้งละ 5-6 ตัว จำนวนลูกเฉลี่ยต่อปีประมาณ 34 ตัว ชอบอาศัยอยู่ตามลิ้นชัก ซอกตู้ ที่เก็บของ ช่องรอยแตกของฝาหรือกำแพง ชั้นเก็บวัสดุอาหาร ตามกล่องที่ตั้งไว้ในที่ลับตา รัศมีออกหากินไม่เกิน 10 เมตรจากรัง ตัวผู้จะหากินไกลกว่าตัวเมีย ลักษณะของมูลเป็นแท่งสั้น ๆ ปลายแหลมยาวประมาณครึ่งเซนติเมตร ชอบสะสมอาหาร และอยู่เป็นครอบครัว ๆ มีตัวเมียหลายตัวต่อตัวผู้ 1 ตัว กินอาหารได้ทุกชนิด อาหารที่ชอบ เมล็ดพืชประเภทข้าว

โรคที่เกิดจากหนู

หนูเป็นรังของโรค ( Reservoir of infectious agent ) หลายชนิด ซึ่งอาจแพร่มาสู่คน ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วย โรคสำคัญที่เกิดจากหนู และควรมีมาตรการเฝ้าระวังอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถแบ่งออกได้เป็นกลุ่มดังนี้
1. กลุ่มโรคที่เกิดจากตัวหนูโดยตรง ได้แก่ โรคฉี่หนู หรือเล็ปโตสไปโรซิส , โรคไข้หนูกัด โรคไข้สมองอักเสบ ( Angiostrongyliasis ) โรคพยาธิตาบวม (Trichinosis ) โรคไข้สมองอักเสบไวรัส LCM
2. กลุ่มโรคที่เกิดจากหมัดหนู ได้แก่ กาฬโรค ไข้รากสาดใหญ่ (Murine Typhus fever , Flea borne )
3. กลุ่มโรคที่เกิดจากไรหนู ได้แก่ ไข้รากสาดใหญ่ ( Scrop typhus, Mite borne )
4. กลุ่มโรคที่เกิดจากเหาหนู ได้แก่ ไข้กลับซ้ำ ( Relapsing Fever , Louse borne )ไข้รากสาดใหญ่ ( Classical Typhus fever )
5. กลุ่มโรคที่เกิดจากเห็บหนู ได้แก่ ไข้กลับซ้ำ ( Relapsing Fever , Tick borne )

มาตรการในการป้องกันและกำจัดหนู นขต.บก.พบ.และในพื้นที่บ้านพัก พบ.
วิธีดำเนินการ

การควบคุมหนูบ้านให้ได้ผลดี และทำให้พื้นที่นั้น ๆ ปลอดหนูอย่างถาวรนั้นเป็นเรื่องกระทำได้ยาก ขึ้นอยู่กับวินัยทางสุขาภิบาลของบุคคล และชุมชนเป็นปัจจัยสำคัญ มาตรการที่จะนำมาใช้ในการป้องกันหรือกำจัด ต้องร่วมมือกันปฏิบัติอย่างเคร่งครัด และพร้อมเพรียงกัน
1. การปรับปรุงที่ทำงานและบ้านอาศัยตามหลักการสุขาภิบาล
2.1 ป้องกันมิให้หนูเข้าสู่ที่ทำงาน และที่พักอาศัย เช่น ปิดหรืออุดช่องทางเข้าออกของหนู ด้วยวัสดุที่หนูไม่สามารถกัดแทะได้ สร้างสิ่งกีดขวางทางเดิน ทางวิ่งของหนู
2.2 เก็บรวบรวมขยะมูลฝอยใส่ภาชนะปิดให้มิดชิด เพื่อเป็นการกำจัดแหล่งอาหารของหนู ก่อนนอนควรนำขยะทั้งหมดในครัวเรือนนำมาทิ้งในที่ทิ้งถังขยะรวมที่จัดทำไว้ให้
2.3 ดูแลรางระบายน้ำโสโครก ท่อน้ำทิ้งอย่างสม่ำเสมอ ไม่ให้เป็นช่องทางเดิน , ทำรังพักอาศัย หรือเป็นแหล่งอาหาร
1.4 จัดอาคารสำนักงาน / บ้านเรือน ทั้งภายในและบริเวณรอบ ๆ ให้สะอาดไม่รกรุงรัง ไม่ให้มีมุมอับอันเป็นที่หลบซ่อน หรือเป็นที่พักอาศัยได้
1.5 จัดเก็บอาหาร หรือเสบียง อาหารแห้งต่าง ๆ ในภาชนะที่มิดชิดและป้องกันการกัดแทะของหนูได้
1.6 การนำอาหารมารับประทานในอาคารสำนักงาน จะต้องนำถุงพลาสติกใส่อาหาร และเศษอาหารที่รับประทานเหลือ ไปทิ้งที่ถังขยะภายนอกอาคารที่จัดไว้ให้ทุกวันหลังเลิกงาน

3. การกำจัดหนูโดยใช้สารพิษ
3.1 สารพิษที่ออกฤทธิ์เร็ว ใช้ผสมกับเหยื่อโดยอัตราส่วนของความเข้มข้น 0.1 – 10 % เช่น ซิงค์ฟอสไฟด์ , เรดสควิล , สตริคนิน , ฟอสฟอรัสเหลือง เป็นต้น ใช้ผสมกับเหยื่อประเภท เนื้อบด ปลาป่น ข้าวโพดป่น ปลายข้าว เนื้อมะพร้าว ( สารพิษ 1 หน่วย ต่อเหยื่อ 99 หน่วย) เพื่อให้เยื่อพิษมีกลิ่นและรสจูงใจหนู ควรผสมน้ำเชื่อมหรือน้ำมันพืชเล็กน้อย ระหว่างคลุกเคล้า หนูจะตายภายใน 1 – 2 ชั่วโมง
3.2 สารพิษที่ออกฤทธิ์ช้า เป็นสารพิษที่ออกฤทธิ์ยับยังการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulant ) ใช้ผสมกับเหยื่อเช่นเดียวกัน ตัวอย่างของสารพิษชนิดนี้ ได้แก่ ราคูมิน , พินโดน , ฟูมาริน แต่ในปัจจุบันมีการผลิตเหยื่อพิษสำเร็จรูปจำหน่าย ทำให้สะดวกในการใช้งาน และได้ผลดี เช่นเหยื่อสำเร็จรูป โบรมาดิโอโลน หรือ KED หนูจะเข้ามากินเหยื่อหลายครั้งโดยไม่ระแวงสงสัย เมื่อได้รับสารพิษเข้าไปในระดับที่เป็นพิษ จะทำให้หนูตกเลือดทั้งภายนอกภายใน และตายภายใน 1 – 3 วัน
4. การกำจัดหนูโดยใช้กรงดัก การใช้กรงดักหนูเป็นวิธีการดำเนินการต่อจากการใช้วิธีสารพิษซึ่งได้ดำเนินการกำจัดครั้งใหญ่ไปแล้ว จึงใช้กรงดักหนูเป็นวิธีกำจัดต่อไป